33.เรื่องคู่กรรม โดย นางสาวอาทิตยา ยิ้มแย้ม


การวิพากษ์วรรณกรรม ประกอบรายวิชา 001222 ภาษา สังคม และวัฒนธรรม
                                                                                                  โดย นางสาวอาทิตยา ยิ้มแย้ม
รหัสประจำตัว 59473102
คณะ สาธารณสุขศาสตร์

ชื่อวรรณกรรม           คู่กรรม
แต่งโดย                   คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ใช้นามปากกา ทมยันตี
แปลโดย (ถ้ามี)                    -
พิมพ์ครั้งที่               16
สำนักพิมพ์                ณ บ้านวรรณกรรม
ปีที่พิมพ์                   เดือนมีนาคม 2556
จำนวนหน้า              988
เนื้อหาโดยย่อ
           อังศุมาลิน ชลาสินธุ์ เติบโตมาท่ามกลางความรักของ แม่อร กับ ยาย ที่บ้านริมคลองบางกอกน้อย โดยปราศจากความไยดีของพ่อที่เป็นนายทหารระดับสูงแห่งกองราชนาวีไทย ชื่อ หลวงชลาสินธุราช ที่ไปมีครอบครัวใหม่เพื่อความก้าวหน้าทางการงาน อังศุมาลินมีเพื่อนชายที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กคือ วนัส ก่อนเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ วนัสได้ขอความรักจากอังศุมาลิน แต่เธอขอให้คำตอบในวันที่เขาเรียนจบกลับมาเสียก่อน โดยทั้งคู่สัญญาว่าจะรอกัน
          อังศุมาลินเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นกับ หมอโยชิ ทันตแพทย์ชาวญี่ปุ่นแถวตลาด ใกล้บ้าน แต่พอเกิดสงครามเขากลับแต่งเครื่องแบบทหารและประกาศตัวว่าเป็นคนของกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ทำให้อังศุมาลินผิดหวังและโกรธแค้น วันหนึ่งอังศุมาลินก็ได้พบกับ โกโบริ เรือเอกหนุ่มประจำกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่มาประจำอยู่ที่อู่ต่อเรือใกล้บ้าน อังศุมาลินประกาศตนเป็นศัตรูกับกองทัพญี่ปุ่น เมื่อโกโบริสั่งลงโทษกรอกน้ำมัน ตาบัว กับ ตาผล คนในชุมชนชาวสวนที่อังศุมาลินรู้จัก ซึ่งไปรับจ้างทำงาน แต่กลับช่วยกันขโมยน้ำมันของกองทัพญี่ปุ่น โกโบริรู้สึกรักอังศุมาลินตั้งแต่แรกพบ เขาพยายามแสดงไมตรีจิตกับครอบครัวของอังศุมาลินมาตลอด เช่น เมื่อยายของเธอป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เขาก็พาหมอทาเคดะ มารักษา ด้วยเหตุนี้แม่กับยายเอ็นดูมองเห็นถึงน้ำใจไมตรีและเรียกขานว่า พ่อดอกมะลิ
          บ่ายวันหนึ่งขณะที่อังศุมาลินอยู่บ้านคนเดียวก็มีสัญญาณระเบิดดังขึ้น โกโบริมาหาเธอที่บ้านพอดี จึงพาเธอไปหลบภัยที่ท้องร่องในสวน พอดีระเบิดลงใกล้บริเวณนั้นโกโบริเอาตัวกำบังอังศุมาลินไว้ และเอ่ยปากบอกรักอังศุมาลินก่อนที่เขาและเธอจะหมดสติพร้อมกัน หลังเหตุการณ์สงบ แม่กับยายกลับมาจากทำบุญที่วัด พร้อมด้วย ยายเมี้ยน และชาวบ้าน พวกเขามาพบโกโบรินอนทับอังศุมาลินอยู่ในท้องร่อง ยายเมี้ยนนำเรื่องนี้ไปโพนทะนาจนข่าวแพร่กระจายไปในทางเสื่อมเสียอย่างมาก
          พอดีที่หลวงชลาสินธุราชพ่อของอังศุมาลินที่กำลังมีปัญหาทางการเมือง เพราะถูกสงสัยว่าเป็นขบวนการเสรีไทย และสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงกระทบกระทั่งกันเองพอดี อีกทั้งโกโบริเป็นตัวอย่างของนายทหารญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทย ดังนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองหนุ่มสาวจึงถูกดึงให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขบรรยากาศความขัดแย้ง
          หลวงชลาสินธุราชจึงมาเจรจาขอให้อังศุมาลินยอมแต่งงานกับโกโบริด้วยตนเอง เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งหมด เมื่อทุกอย่างบีบคั้นอังศุมาลินจึงยอมตกลงปลงใจแต่งงานกับโกโบริ แต่ในวันหมั้นโกโบริจับได้ว่าอังศุมาลินและพวกพ้องถือโอกาสพาร้อยโทไมเคิล วอร์เด็น เชลยชาวอเมริกันหนีกองทัพญี่ปุ่นเพื่อไปพบพวกขบวนการเสรีไทยได้สำเร็จ จึงทำให้เขารู้สึกเสียใจกับการกระทำครั้งนี้ของอังศุมาลินเป็นอย่างมาก แต่เพราะความรักที่มีต่ออังศุมาลิน โกโบริจึงยอมเก็บเรื่องทุกอย่างไว้เป็นความลับ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นภัยร้ายแรงกับกองทัพญี่ปุ่น
           โกโบริรู้ดีว่าอังศุมาลินมีวนัสอยู่แล้ว เขาตัดสินใจไปหารือกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อจะขอยกเลิกการแต่งงานแต่ก็ไม่เป็นผล การแต่งงานของโกโบริกับอังศุมาลินจึงเป็นไปตามกำหนดการเดิม และในคืนส่งตัวโกโบริก็ปฏิบัติตนเป็นสุภาพบุรุษ ไม่คิดที่จะล่วงเกินอังศุมาลินเลยแม้แต่น้อย
          ตาบัวกับตาผลยังหาความเดือดร้อนมาใส่ตัวอีกจนได้ ด้วยการไปพาฝรั่งเยอรมันมาที่กระท่อมในสวน เพราะนึกว่าฝรั่งทุกคนคือศัตรูญี่ปุ่นไปหมด แต่เยอรมันคนนั้นไปแจ้งตำรวจและกองทัพญี่ปุ่น ว่าในสวนนี้มีกระท่อมที่ให้ที่พักกับฝรั่งชาติพันธมิตร จนพวกกำนัน ซึ่งเป็นพ่อของวนัสกับชาวบ้านต้องช่วยกันรื้อกระท่อมนั้น และจัดงานรำวงขึ้นเพื่อบังหน้า โกโบริเองก็พลอยร่วมมือไปกับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่รู้สึกเจ็บปวดในใจ เขาจึงดื่มเหล้าอย่างหนักและร่วมรำวงอย่างสนุกสนานจนขาดสติ
          ในคืนนั้นเองโกโบริก็ปลุกปล้ำขืนใจอังศุมาลิน ทั้งเพราะความเมาความรักและความน้อยใจ ทำให้อังศุมาลินยิ่งแสดงความเย็นชาเกลียดชังเขามากขึ้น โกโบริรู้สึกผิดที่ล่วงเกินอังศุมาลิน เขาจึงมุทำงานอย่างหนักไม่กลับมาค้างที่บ้าน พร้อมกับทำเรื่องขอย้ายไปประจำการที่พม่าเพราะสถานการณ์ที่นั่นกำลังตึงเครียด จากนั้นไม่นานอังศุมาลินก็รู้ตัวว่าตนได้ตั้งท้องลูกของโกโบริ หมอทาเคดะตรวจพบอาการและบอกข่าวดีกับทุกคน โกโบริดีใจมาก แต่แล้วก็มีข่าวว่าวนัสเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทยจากอังกฤษที่กระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และโดนญี่ปุ่นจับได้
          อังศุมาลินรู้ว่าโกโบริจะได้เป็นหนึ่งในคณะทหารญี่ปุ่นที่จะทำหน้าที่สอบสวนวนัส เธอจึงเอาลูกมาขู่ว่าหากวนัสมีอันตรายอะไร โกโบริจะต้องตอบแทนอย่างสาสม ก่อนทิ้งตัวให้ตกบันไดที่สูงชันลงมา โชคดีที่เธอและลูกปลอดภัย แต่โกโบริเสียใจมาก เขาพยายามเร่งให้ตัวเองได้ย้ายไปพม่าเร็วขึ้น และพูดว่าหากอังศุมาลินไม่ต้องการเด็ก ก็ให้ส่งไปให้พ่อแม่เขาที่ญี่ปุ่นเลี้ยงก็ได้ ส่วนตัวเธอเขาจะปล่อยให้เป็นอิสระได้กลับไปรักกับวนัสตามเดิม อังศุมาลินเริ่มได้คิดและรู้ใจตนว่าที่แท้แล้ว คนที่มีความหมายที่สุดสำหรับเธอก็คือโกโบริและลูกในท้องต่างหาก เธออยากบอกให้เขารู้ว่าเธอรักเขาที่สุด และขอให้เขาเลิกล้มความคิดที่จะย้ายไปจากเมืองไทยเสีย แต่ก็มีอันต้องคลาดกันตลอด เพราะโกโบริเอาแต่หักโหมทำงานเพื่อลืมความทุกข์ในใจ ทั้งสองจึงไม่ได้ปรับความเข้าใจกัน
          ในที่สุดวนัสก็พ้นจากการจองจำเพราะความช่วยเหลือของโกโบริ วนัสรีบมาพบอังศุมาลิน เธอดีใจมาก เพราะเธอจะได้ให้คำตอบแก่วนัสตามสัญญาเสียทีว่าเธอรักโกโบริคนเดียวและขอคืนอิสระจากวนัส วนัสบอก ว่าโกโบริเป็นคนดี และอวยพรในความรักของเธอกับโกโบริ พร้อมกำชับให้อังศุมาลินบอกโกโบริว่าอย่าไปสถานีรถไฟบางกอกน้อย เพราะพันธมิตรมีแผนจะทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่นั่น
          ทั้งสองไม่รู้ตัวเลยว่าการลักลอบพบกันครั้งนี้อยู่ในสายตาของโกโบริ แต่เขาไม่ได้ยินสิ่งที่ทั้งสองบอกต่อกัน ภาพที่เห็นจึงทำให้โกโบริเข้าใจผิด จากนั้นอังศุมาลินก็รีบจะไปบอกข่าวดีกับโกโบริว่าเธอเป็นอิสระจากวนัสแล้ว และจะขอเป็นภรรยาที่ดีของเขาคนเดียว แต่ไม่ทันกาลเพราะโกโบริได้ออกเรือตรงไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย พอดีอังศุมาลินรีบตามไปที่สถานีรถไฟบางกอก เมื่อเธอไปถึงปรากฏว่าสถานีรถไฟบางกอกน้อยโดนระเบิดถล่มเสียหายยับเยิน มีทหารบาดเจ็บล้มตายมากมาย อังศุมาลินขอพรลูกในท้องให้ช่วยคุ้มครองพ่อ และตามหาโกโบริอย่างร้อนใจ จนในที่สุดก็พบเขาบาดเจ็บสาหัสนอนจมซากปรักหักพังอยู่ เธอพยายามทำทุกวิธีอย่างสุดกำลังที่จะช่วยให้เขามีชีวิตรอด
คุณค่าของวรรณกรรมที่ได้อ่าน
          นวนิยายเล่มนี้มีคุณค่าในหลายแง่มุม ในด้านการใช้ภาษา การพูดการจาและสำนวนถ้อยคำที่ปรากฏในนวนิยายเล่มนี้หาได้ยากแล้วในยุคสมัยปัจจุบันในแง่ของสังคมและวัฒนธรรม เราได้เห็นวิถีชีวิตและสภาพสังคมของคนไทยในสมัยก่อนที่แตกต่างไปจากในปัจจุบันอย่างมากในขณะที่ขนบธรรมเนียมคติความเชื่อ และค่านิยมของคนไทยยังค่อนข้างคงเดิม นอกจากนี้ ภาพประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาในประเทศไทย เรื่องของขบวนการเสรีไทย และสภาพความเป็นจริงในภาวะสงคราม ก็ได้ถูกนำเสนอในเรื่องอย่างลงตัว
บริบททางสังคมและวัฒนธรรมจากการอ่าน
             เรื่องราวความรักระหว่างสาวชาวไทยกับทหารหนุ่มเชื้อสายญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาตร์ของไทย-ญี่ปุ่น  นั้นคงเป็นความรักที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของใครต่อใครหลายคน ที่ยังจดจำโกโบริและอังสุมาลิน ตัวละครจากวรรณกรรมชื่อดังเรื่องคู่กรรม   คู่กรรมเป็นเรื่องราวของโศกนาฏกรรมความรักที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพกับอยู่ในประเทศไทย อังศุมาลิน หญิงสาวที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรักความอบอุ่นของแม่และยาย   เธอได้พบเจอกับโกโบริ ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาฐานทัพอยู่ใกล้ๆกับบ้านสวนของเธอถึงแม้จะไม่ชอบหน้าโกโบริ  แต่อังสุมาลินกลับต้องมาแต่งงานกับเขาเพราะว่าเหตุผลทางการเมืองบีบบังคับ  ด้วยความสุภาพ  แสนดีของทหารหนุ่ม  ทำให้ในใจลึกๆ  แล้วอังสุมาลินก็มีใจให้กับเขาแต่เธอกับปฏิเสธความจริงข้อนี้ 
        ด้วยเพราะเนื้อเรื่องที่อิงประวัติศาสตร์ บวกกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังจึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนวิถีชีวิตของคนและสภาพสังคมไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ผ่านตัวละครที่มีความขัดแย้งกัน  ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสน่ห์ของละครไทยเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนสามารถแสดงเนื้อหาเรื่องราวของความรักบนความขัดแย้งได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
         ซึ่งเรื่องราวความรักของชายหญิงคู่หนึ่งที่ส่งออกมาผ่านทางปลายปากกา  สะท้อนภาพของสังคมชาวไทยกับชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น ภาพของเด็กสาวที่พายเรือไปที่ตลาดเพื่อขายผลไม้ในสวนของตน ภาพของนายทหารญี่ปุ่นที่เดินเลือกซื้อสินค้าและผลไม้และชวนชาวไทยคุยอย่างสนุกสนาน ภาพของคุณอรที่นาบใบพลูและเจียนหมาก การเดินทางคมนาคมด้วยเส้นทางน้ำเป็นหลักถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างนึงในนวนิยายเรื่องคู่กรรม บทบรรยายในหนังสือก็ช่างสื่อถึงอารมณ์ของตัวละคร สละสลวย งดงาม อบอุ่น บีบคั้น และครบถ้วนกระบวนความ ไม่แพ้นวนิยายรักของวัยรุ่นสมัยนี้ จะขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้อ่านกัน

"เช็ดหน้าเสียหน่อย หน้าคุณมีแต่โคลนทั้งนั้น"
อังศุมาลินเอื้อมมารับแต่โดยดี ปลายนิ้วแตะกันโดยไม่ได้ตั้งใจ โกโบริดูเหมือนจะอ้อยอิ่งอยู่นิดหนึ่งก่อนที่จะหดมือกลับ ผ้าขนหนูผืนนั้นมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนกลิ่นที่เธอจำได้จนเจนใจ ขณะที่ตกอยู่ในอ้อมแขนแข็งแรงคืนวันนั้น
ชายหนุ่มนั่งเหยียดยาว ปลายเท้ายันแคมเรือด้านหนึ่งไว้ ท่าทางเหน็ดเหนื่อย ทอดตัวตามสบาย ผมที่เคยตัดจนเกรียน แต่ในยามเจ็บดูเหมือนจะถูกละเลยจนยาวพอที่จะเห็นได้ชัดว่าหยัก ปลายสะบัดเล็กน้อย ริมฝีปากและแก้มมีรอยเขียวจางๆ
อ้า.. นี่แหละรูปท้าว อันมาชมมาโชย.. กลิ่นหอมจางๆ ยังอบอวล กลิ่นนี่เองที่ไป่หายในอกออมรสรักอยู่ยาใจ
ความรู้สึกส่วนตัวของผู้วิจารณ์
                 เรื่องนี้ค่อนข้างจะจืดชืดไปหน่อย  ก็คือเป็นเรื่องราวความรักระหว่างคนต่างเชื้อชาติที่ฝ่ายหนึ่งเจ้าทิฐิ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ทะนงตน สองคนนั้นพบกัน รักกัน แต่ก็มีทิฐิเป็นอุปสรรค ทำให้เรื่องยังไม่จบ เราจึงเดาได้ว่าในตอนจบ เขาจะละทิฐินั้นไป และคนทั้งสองจะรักกันอย่างเข้าใจ
                 แนวของเรื่องอาจไม่ยังไม่ค่อยสมเหตุสมผลหรือยังไม่ทำให้เรา “เชื่อ” นั่นเอง เพราะในตอนแรกเราไม่เชื่อว่าโกโบริจะรักอังศุมาลินจริงๆ ด้วยสถานการณ์ของสงครามในขณะนั้น หากทหารญี่ปุ่นจะมาเกี่ยวดองกับผู้หญิงชาวไทย เขาย่อมต้องมีจุดประสงค์อื่นแน่ ไม่ใช่เพราะความรัก แต่พอดูจากการกระทำของโกโบริที่เอาใจใส่อังศุมาลินเป็นอย่างมาก ก็สงสัยว่าเขาไปรักเธอตั้งแต่ตอนไหน รวมไปถึงนิสัยใจคอของอังศุมาลินเอง ที่ถือทิฐิมานะสูงมากจนเราอดคลางแคลงใจไม่ได้ไม่ได้ว่าคนที่เป็นแบบนี้จะมีอยู่จริงในโลก ส่วนโกโบริเอง เราก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงรักอังศุมาลินมากจนยอมออกไปเสี่ยงชีวิตในบางกอกน้อย เพียงเพื่อจะทำให้เธอพอใจ ส่วนในตอนจบ ตอนที่โกโบริกำลังจะสิ้นใจ และอยู่ในอ้อมแขนของอังศุมาลิน เราก็ยังสงสัยว่าในสถานการณ์ที่บีบคั้น โกโบริเลือดออกเยอะมาก รอบข้างเต็มไปด้วยศพและความวุ่นวาย เหตุใดทั้งสองคนจึงสามารถรวมรวบสมาธิและคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อังศุมาลินสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตรวมถึงความรู้สึกในใจของเธอได้ครบถ้วน ส่วนโกโบริก็สนทนาโต้ตอบได้อย่างเป็นปกติ
            ถึงอย่างนั้น เราก็ยังสนุกและมีอารมณ์คล้อยตามไปกับนวนิยายเรื่องนี้ และไม่สามารถหยุดอ่านได้เลยจริงๆ จนกระทั่งประโยคสุดท้าย



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

35.เรื่องดินสอแท่งสั้น โดย นางสาวจิราภัทร ตรีจินดาภัทร

31.เรื่องทวิภพ โดย นางสาว สุพัตรา ช้างทอง